การนับจำนวน และหน่วยการนับ การวัด การชั่ง การตวง เป็นภาษาเหนือ

ศัพท์ในการนับจำนวน และวัด ชั่งน้ำหนักในภาษาเหนือ


     บางครั้ง  การนับจำนวนต่างๆ เป็นภาษาเหนือนั้น  มักจะได้ยินเค้าใช้ภาษาเหนือกัน  เพราะว่าสะดวกในการใช้งาน  และความคุ้นเคยนั่นเอง  ทำให้เรามักจะได้ยินประโยคที่เกี่ยวกับการนับจำนวนบ่อยๆ ตามตลาด  หรือร้านค้าต่างๆนั่นเอง

     เวลาที่เราถามคนขาย ว่าของชิ้นนี้ขายยังไง  ถ้าเป็นปลาหรือเนื้อ คนขายก็จะตอบว่า "เม็ดละ 100 เจ้า" ซึ่งความหมายก็คือ "ขีดละ 100 บาทนั่นเอง" ศัพท์เหล่านี้ยังพบเจอบ่อยๆ ตามพื้นที่นอกเมือง ซึ่งคนสมัยเก่าๆ จะยังพูดภาษาเหนือแท้ๆ ไม่มีภาษาอื่นมาปนกัน  ซึ่งมีจำนวนมากเลยทีเดียว  เอาหล่ะ  คราวนี้เราลองมาดูกันเลยดีกว่า  ว่าศัพท์ในการนับจำนวนต่างๆในภาษาเหนือนั้่น มีอะไรบ้าง มาดูกันเลย


การนับเลขเป็นภาษาเหนือ


1 = นึ่ง
2 = สอง
3 = สาม
4 = สี่
5 = ห้า
6 = ฮก
7 = เจ๋ด
8 = แปด
9 = เก้า
10 = ซิบ
11 = ซิบเอ๋ด
20 = ซาว
21 = ซาวเอ๋ด
20 กว่าๆ = ซาวป๋าย


ศัพท์ที่ใช้เกี่ยวกับการตวง การวัด ในภาษาเหนือ


เต๊ะ  =  วัดขนาด , วัดความสูง ความยาว
เม็ด  =  ขีด ( 10 ขีด  =  1 กิโลกรัม )
ก๋ำ  =  กำมือ
ปุ๊ก  =  พวง
เก๊า  =  ต้น
จับปอดี  =  พอดีเป๊ะ
กีด  =  แคบ
เถี่ยน  =  เล่ม (ใช้นับจำนวนมีด จอบ เสียม พร้า)
ตั๋ว  =  ตัว
ก๋อง  =  กอง
ต๋าง  =  ถัง
ก๊อกกิโล  =  กระป๋องตวง 1 กิโลกรัม
เตื้อ   =  ครั้ง
กำ  =  ที


     ด้วยในยุคปัจจุบัน  นับวันภาษาคำเมืองยิ่งจะถูกลบเลือนไปกับกาลเวลา  เพราะว่าคนรุ่นใหม่นั้นมักจะพูดภาษาไทยกันหมด  และไม่แน่ว่าอีกไม่กี่สิบปี ถ้าคนรุ่นต่อไปไม่พูดภาษาคำเมืองกันแล้ว  วัฒนธรรมที่งดงามตรงนี้  จะต้องเลือนหายไปแน่นอน  เพื่อเป็นการรักษาเอาไว้ ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามของภาคเหนือ แอดมินก็หวังเป็นอย่างยิ่งครับ ว่าบทความเหล่านี้ จะเป็นประโยชน์กับเพือนๆ ไม่มากก็น้อยครับผม

คำอุทานภาษาคำเมือง พร้อมคำแปล

คำอุทานภาษาล้านนา

     ทุกๆคนบนโลกใบนี้  ไม่ว่าคุณหรือผม  เมื่อเราตกใจ  หรือมีอะไรมาโดนใจอย่างแรง  เรามักจะพูดคำพูดบางอย่างออกมา  ซึ่งบางทีมันออกมาโดยที่เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ  อาการเหล่านี้เราเรียกว่าการอุทานออกมาครับ  โดยคำพูดที่เราโพล่งออกมานั้น  เราเรียกว่าคำอุทานนั่นเอง

     คำอุทานนั้นมีหลายแบบ หลายชนิด หลายคำ  แยกกันไปตามสถานการณืที่เราอุทานออกมา  แน่นอนว่าคำอุทานในภาษาเหนือนั้น  ก็ย่อมไม่เหมือนกับภาษาอื่นๆทั่วไป  บางคำเราฟังไม่ออกด้วยซ้ำ  ว่านี่คือคำอุทาน  เพราะมันเป็นเหมือนคำที่ไม่มีความหมายเอาซะเลย   เพื่อความเข้าใจอย่างถูกต้องของเพื่อนๆ  เราจึงได้หยิบยกเอาตัวอย่างบางส่วนของคำอุทานภาษาเหนือมาให้เพื่อนๆได้ทำความเข้าใจกัน  ความรู้ดีๆแบบนี้  เพื่อนๆอย่าพลาดชมกันนะครับ




ตัวอย่างคำอุทานเป็นภาษาเหนือ ภาษาคำเมือง


1.   โป๊ดโท ทำโม สังโค
ความหมาย  :  พุทโธ ธัมโม สังโค



2.   เอ่อ  นั่นเต๊อะ
ความหมาย  :  ให้ตายสิ , บ้าไปแล้ว



3.   เอ๋อ..เอ๊ย..
ความหมาย  :  เป็นคำอุทานเวลาพลาด หรือสูญเสียไป



4.   อ๋อ..อ๊อย
ความหมาย  :  เป็นคำอุทานเมื่อเกิดความสงสาร



5.   ป๊าดโซ๊ะ
ความหมาย  :  อั๊ยหยา



6.   อั่นหล๊า
ความหมาย  :  เป็นคำอุทานเมื่อเกิดความเจ็บปวด เช่น เดินเอาแข้งไปชนขอบบันได เป็นต้น



7.   โค๊ะ
ความหมาย  :  เป็นคำอุทาน ความหมายประมาณเดียวกับคำว่า โห !!



8.   แอ่นแล่ะ
ความหมาย  :  เป็นคำแซว  ใช้ตอนที่คนอื่นแสดงความสามารถอันยอดเยี่ยมออกมา



9.   ฮานิบ่าเฮ่ย
ความหมาย  :  ปั๊ดโธ่เอ้ย !



10.   อะหยังปะล้ำป่ะเหลือ
ความหมาย  :  อะไรกันนักกันหนา



11.   เอ้อว
ความหมาย  :  เป็นคำอุทานเมื่อเราไม่ค่อยพอใจ  ความหมายใกล้เคียงกับคำว่า เฮ่ย !



12.   โป๊ด...โซ๊ะ
ความหมาย  :  ความหมายใกล้เคียงกับคำว่าอั๊ยหยา  แต่มักใช้กับเหตุการณ์ที่มีความยิ่งใหญ่มากกว่า

คำขยายความในภาษาเหนือ ภาษาคำเมือง

คำขยายความในภาษาเหนือ  สิ่งล้ำค่าที่ควรอนุรักษ์

         ไม่ว่าจะเป็นภาษาใดๆก็ตามในโลกใบนี้  การที่เราจะพูด หรือสื่อสารกันนั้นย่อมมีคำพูดที่หลากหลาย  และยิ่งนับวัน  คนเราก็ยิ่งประดิษฐ์คำใหม่ๆขึ้นมามากมาย  ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย  ที่คำพูดที่เราใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณนั้น  จะเพิ่มคำเข้าไปอีกเพื่อขยายความหมาย  ให้ตรงกับความรู้สึกมากขึ้น  เราเรียกคำเหล่านั้นว่า  "คำขยายความ"

         และในบทความนี้  เราจะมาอธิบายเกี่ยวกับคำขยายความของภาษาคำเมืองที่มีอยู่หลากหลายคำมากเลยทีเดียว  ทั้งขยายความจัดจ้านของสีสัน  รสชาติที่จัดจ้านของอาหาร  ความรุนแรงของสภาพแวดล้อมรอบๆตัว   เป็นต้น
     ซึ่งบรรพบุรุษของเรา  เค้าได้ประดิษฐ์คำเหล่านี้ขึ้นมาตั้งแต่อดีตแล้ว  ซึ่งเป็นสิ่งล้ำค่าทางวัฒนธรรมที่น่ารักษาเอาไว้เป็นอย่างมาก  ผมจึงได้เรียบเรียงมาให้เพื่อนๆคนรุ่นใหม่ได้ศึกษาและช่วยกันอนุรักษ์ภาษาเหนืออันงดงามเอาไว้ครับ



คำขยายความในภาษาเหนือ 25 ตัวอย่าง  พร้อมคำแปล


1.ฝุ่นมุ้งมุ้ง  =   ฝุ่นคละคลุ้ง



2.ปวดโซ๊ะโซ๊ะ  =   ปวดตุบตุบ



3.แหลวแฝ้ะแหลวแฟ่น  =   แหลกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย



4.แจ้งซ่างล่าง  =   สว่างไสว



5.บางแต๊บแย๊บ  =   บางแบนมากๆ



6.ซื่อแซ๊ด  =   ตรงเปรี๊ยะ



7.มนอุ๊มลุ๊ม  =   กลมมากๆ



8.ต่ำแอ๊ะแต๊ะ  =   เตี้ยนิดเดียว



9.ยาวจ๊าดลาด  =   ยาวเฟื้อย



10.เหม็นตึ๊งตึ๊ง  =   เหม็นคละคลุ้ง



11.สั้นกิ้มดิ้ม  =   สั้นนิดเดียว



12.ต่ำป๊อกล๊อก  =   เตี้ยม่อต้อ



13.สูงเกิ้งเดิ้ง  =   สูงชะลูด



14.ผอมแก้งแด้ง  =   ผมแห้ง , ผอมโซ



15.งามพี้ลี่  =   สวยสดใส



16.ง่อมจอยวอย  =   เงียบเหงา



17.อ้าก๊าบงาบ  =   อ้ากว้าง



18.เก่าโค๊ะโละ  =   เก่ามอมแมม



19.ก๊ดโล้งโง้ง  =   ไม่ตรง , โค้งงอ



20.ปุ๊สุ่นบุ่น  =   ฟูขึ้นมา , ฟูฟ่อง



21.เหงี่ยงล้างง้าง  =   เอียงกะเท่เล่



22.เย็นจิ้วจิ้ว  =   เย็นเฉียบ



23.เค่งติ้งติ้ง  =   เกร็ง , เขม็ง , รัดตึง



24.หมั้นถึ้ง  =   หนักแน่น , มั่นคง



25.ขำก๊ะงะ  =   คาอยู่อย่างนั้น

การเรียกชื่ออาชีพต่างๆเป็นภาษาเหนือ ภาษาคำเมือง

ชื่ออาชีพต่างๆเป็นภาษาเหนือ

         ในการเรียกชื่อการอาชีพหรือการทำมาหากินในแบบต่างๆนั้น  บางอาชีพก็มีภาษาพูดที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของภาษาเหนือ  ในบทนี้เราจะมาศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการเรียกชื่ออาชีพต่างๆเป็นภาษาเหนือ  พร้อมกับคำแปลมาให้แล้ว  เพื่อให้เพื่อนๆได้ศึกษาและเข้าใจอย่างง่ายดายนั่นเอง

 ในบทความนี้เราก็ได้รวบรวมเอาชื่อตัวอย่างอาชีพบางส่วน  ที่มักได้พบเจอในพื้นที่ดินแดนล้านนา  มาให้ได้ดูกัน 20 ตัวอย่าง  ซึ่งเป็นอาชีพที่ใกล้ตัวเราทุกคนมากๆ เลยทีเดียว  ถ้าอย่างนั้นเพื่อนๆก็ลองอ่านและพูดตามไปกันเลยนะครับ  








ตัวอย่างชื่ออาชีพต่างๆในภาษาเหนือ


1.ป้อก๊า  =   พ่อค้า


2.แม่ก๊า  =   แม่ค้า


3.ตะหาน  =   ทหาร


4.อาจ๋าน  =   อาจารย์


5.สาวโฮงงาน  =   สาวโรงงาน


6.ยะก๋านก่อสร้าง  =   ทำงานก่อสร้าง


7.ป้อหลวง  =   ผู้ใหญ่บ้าน


8.ก๋ำนัน  =   กำนัน


9.ป้อก๊างัว  =   พ่อค้าวัว , นายฮ้อย


10.ปู่จ๋าน  =   มัคทายก


11.สล่าแป๋งบ้าน  =   ช่างสร้างบ้าน


12.สล่าปู๋น  =   ช่างปูน


13.ป้อก๊าของเก่า  =   คนรับซื้อของเก่า


14.ขะโยม  =   เด็กวัด


15.จ้างฟ้อน  =   คนฟ้อนรำ


16.จ้างซอ  =   นักขับซอ (ซอ คือ การขับกลอนที่ประพันธ์สดๆ ประกอบดนตรีของภาคเหนือ)


17.สล่า  =   ช่าง


18.แม่ก๊าขนมเส้น  =   คนขายขนมจีน


19.จาวนา  =   ชาวนา


20.ต๋ำหนวด  =   ตำรวจ

มาศึกษาภาษาเหนือที่เป็นประโยคสั้นๆกันเถอะ

    ประโยคสั้นๆที่มักจะได้ยินกันบ่อย       


     ในการพูดสื่อสารกันเป็นภาษาเหนือ หรือภาษาคำเมืองนั้น  เรามักจะได้ยินคำพูดเหล่านี้  รวมอยู่ในประโยคของบทสนธนาเสมอ  บางคำก็เป็นคำอุทาน  บางคำก็เป็นคำวิเศษณ์  บางคำก็เป็นคำกริยา  ซึ่งในบทนี้เราก็ได้รวบรวมเอามาไว้ให้เพื่อนๆศึกษากันบางส่วนนะครับ  ซึ่งหากใครได้มาเรียน  หรือมาเที่ยวที่ภาคเหนือตอนบน  จะต้องได้ยินคำเหล่านี้แน่นอน

     บางคำที่เพื่อนๆอาจจะได้ยินมานั้น  อาจจะสงสัยว่าทำไมเค้าพูดอยู่คนเดียวได้  นั่นเป็นเพราะเค้าพูดประโยคลอยๆยังไงหล่ะ  แบบว่าใครจะได้ยินก็ได้ ไม่ได้ยินก็ได้  ขอแค่ให้ได้พูดระบายออกมาก็พอ  จากบทความหลายๆบทที่ผ่านมา เพื่อนๆคงจะได้เรียนรู้กันมาส่วนหนึ่งบ้างแล้ว  งั้นบทนี้ก็คงไม่ยากครับ ลองอ่านกันดูนะ แล้วก็แอบฝึกสำเนียงด้วยก็ได้  ไว้เดี๋ยววันหน้า  ผมจะทำเป็นไฟล์เสียงมาให้เพื่อนๆได้ฟังกันด้วยนะครับ




ตัวอย่างประโยคภาษาเหนือสั้นๆ


1.หยังมาเสียงดังขนาด   =   ทำไมเสียงดังจังเลย



2.กั๋วแต๊ กั๋วว่า   =   กลัวมากๆ



3.อดไค่หัวบ่าได้   =   อดขำไม่ได้



4.อะหยังป่ะล้ำป่ะเหลือ   =   อะไรกันนักกันหนา



5.ขอยขนาด   =   อิจฉามากๆ



6.จุ๊กั๋นแต๊ จุ๊กั๋นว่า   =   หลอกกันได้ หลอกกันดี



7.ซะป๊ะ ซะเป๊ด   =   เยอะแยะมากมาย



8.กึ๊ดเติงหาขนาด   =   คิดถึงมากๆ



9.ยะหยังอยู่   =   ทำอะไรอยู่



10.หยังมาง่อมแต๊ง่อมว่า   =   ทำไมถึงได้เหงาอย่างนี้



11.เกิบขบตี๋น   =   โดนรองเท้ากัด



12.ขอแหมน้อยเต๊อะ   =   ขออีกหน่อยนะ



13.หยังมาแปงขนาด   =   ทำไมถึงแพงจังเลย



14.บ่าเด่วยะก๋านตางได   =   เดี๋ยวนี้ทำงานที่ไหน



15.ปี๋นี้ปูกข้าวก่ำนักก่อ   =   ปีนี้ปลูกข้าวเหนียวดำเยอะมั๊ย



16.ลมบ่าดีบ่าเฮ้ย   =   อารมณ์ไม่ดีอ่ะ



17.ฟั่งแต๊ ฟั่งว่า   =   รีบร้อนไปไหน



18.จะไปฟั่งว่าเตื้อ   =   อย่าเพิ่งด่วนสรุปไป



19.จะไปยะหยังหยั่งอั้น   =   ทำไมถึงทำอย่างนั้นหล่ะ



20.ต้าวอุ๊บ ต้าวอั๊บ   =   ล้มลุกคลุกคลาน

การพูดชมเชยเป็นภาษาเหนือ

ในบทนี้ เราจะมาศึกษาเกี่ยวกับคำชมภาษาเหนือกันครับ


     การที่เราจะชมใครๆเป็นภาษาเหนือนั้น  หากเพื่อนๆอยากจะรู้ว่าคำชมต่างๆนั้นมีอะไรบ้าง  เชิญเพื่อนๆเข้ามาศึกษากันได้แล้วในบทนี้ครับ  เราจะสอนเกี่ยวกับการพูดชมคนอื่นในโอกาสต่างๆครับ  เพื่อนๆสามารถอ่านและศึกษา  เพื่อเอาไปใช้งานจริงๆได้เลยนะครับ  เพราะเราได้แปลความหมายไว้ให้พร้อมแล้ว  ถ้าตั้งใจศึกษาจริงๆจะไม่ยากเลยครับ

     ก็ลองคิดดูว่าเวลาเร้าจะชมใครนั้น  เราจะพูดว่าอย่างไร ภาษาเหนือก็เช่นกันครับ  ตัวอย่างเช่น ลูกเค้าสอบได้ที่หนึ่ง  หรือใครหน้าตาดี  เหล่านี้เราก็สามารถชมได้ทั้งนั้นแหล่ะครับ  เอาเป็นว่าให้เพื่อนๆลองอ่านดูเลยนะครับ แต่ถ้ามีส่วนไหนที่ไม่เข้าใจ  เพื่อนๆสามารถที่จะสอบถามมาได้ตามช่องติดต่อเราด้านบนได้เลยนะครับ  เราพร้อมที่จะตอบทุกๆคำถามคาใจครับผม





มาดูตัวอย่างคำชมเป็นภาษาเหนือกันเลยครับ


1.งามแต๊งามว่า  =  สวยมากมาย



2.ลำขนาด  =  อร่อยมาก 



3.หน้าหมดต๋าใส  =  หน้าตาใสหมดใจ



4.เฮียนเก่งขนาด  =  เรียนเก่งมาก



5.เก่งแต๊เก่งว่า  =  เก่งสุดๆ



6.หมั่นแต๊หมั่นว่า  =  ขยันจังเลย



7.หมั่นขนาด  =  ขยันมา



8.ยะกิ๋นลำขนาด  =  ทำอาหารอร่อยมาก



9.เฮือนหลังไหย่ขนาดน่อ  =  บ้านหลังใหญ่มากเลยนะ



10.หยังมารวยแต๊รวยว่า  =  ทำไมถึงได้รวยขนาดนี้



11.ยะก๋านดีขนาด  =  ทำงานดีจริงๆ



12.ฮ้องเพลงม่วนแต๊  =  ร้องเพลงเพราะมาก



13.หลวกขนาด  =  ฉลาดมากๆ



14.เก่งแต๊ๆ  =  เก่งมากๆ



15. ตี๋มวยเก่งขนาด  =  ชกมวยเก่งมากๆ



16.หูโวย ต๋าโวยขนาดน่อ  =  หูไว ตาไวจังเลยนะ



17.บ่ะลำไยโหน่ยนักขนาด  =  ลำไยออกลูกเยอะมาก



18.น้ำพิกต๋าแดงลำขนาดเลย  =  น้ำพริกตาแตงอร่อยมากๆ



19.รถใหม่เซ่ง งามขนาดน่อ  =  รถใหม่เอี่ยม สวยจริงๆเลย



20.หยังมาแกว่นแต๊  =  ทำไมถึงเก่งและชำนาญจังเลย

ภาษาเหนือที่ปัจจุบันไม่ค่อยได้ยินบ่อยนัก

มาร่วมกันอนุรักษ์ภาษาเหนือที่กำลังจะเลือยหาย


     ภาษาเหนือที่เราใช้กันทุกวันนี้  มีบางคำที่ได้ยินไม่ค่อยบ่อย  เพราะเด็กรุ่นใหม่มักจจะไม่ค่อยพูดกัน  เพราะปัจจัยหลายๆด้าน  ทำให้ภาษาคำเมืองบางคำนั้นเริ่มที่จะเลือนหายไปกับกาลเวลา  เราจึงอยากจะหยิบยกเอาคำเมืองบางคำที่เราไม่ค่อยจะได้ยินกันแล้วในปัจจุบัน  มาให้เพื่อนๆได้ศึกษากันครับ  เพื่อเป็นการศึกษาและอนุรักษ์เอาไว้  ไม่ให้เลือนหายไปในภายภาคหน้านั่นเอง

ภาษาคำเมืองที่ไม่ค่อยได้ยินกันบ่อยในปัจจุบัน


1.ป๊าย   =    หนี   หนีตายไปเอาดาบหน้า

2.หย้าม    =    เคยตัว, เคยได้, ทำนิสัยแบบเดิม

3.สูน      =     คลุกให้เข้ากัน หรือ เข้าไปปะปนในกลุ่มนั้น

4.หย้าน     =   กลั๋ว

5.ส้าม      =   ติดใจ

6.ส้าย     =    ใช้คืน เช่น ยืมเงินไปแล้วเอามาใช้คืน

7.ขะใจ๋     =   เร็ว ๆ ทำอะไรเร็ว  ๆ หน่อย หรือ รีบ  ๆ ไป

8.ฮิ่น   =   กรองน้ำเอากากทิ้ง

9.อืน    =    คึกคะนอง

10.ฟ้าว    =   แล่นไป

11.ฮ่ายฮอม  = ถ่ายเท มารวม กัน ออมรวม อีกทีหนึ่ง

12.ผ่อย      =  เปราะ / กรอบ

13.สุบ   =    สวม (สุบหมวก) ประจบพบกัน (ออกกองไปสุบใส่กั๋นพอดี)

14.ลื้ม   =   ทำซ้ำ , พูดซ้ำ

15.จั๊ด   =   ร้าว  (แก้วจั๊ด, ถ้วยจั๊ด)

16.บ้าง   =   บิ่น เช่นมีดบิ่น

17.ตั๊ด   =    ถูก, ตรง  (จะพูดสองคำ เช่น ใส่ตั๊ด ๆ ) ใส่ให้ถูก  ๆ  ตรง  ๆ

18.แลง   =   หัวค่ำ ,ยามเย็น (เมื่องแลงนี้ไปไหน, กิ๋นข้างแลงกับหยัง)

19.อ่อย, เกื๋อ,    =   เอาอาหารให้เป็ด  ไก่  หมู่  หมา (อ่อยเข้าไก่แล้วกา)

20.เดิก      =   เวลาดึก   (เดิกมาม้อย ๆ)

21.บุ่น   =   หมุดเข้าไป

22.กุ๊ด   =   ตัก

23.งว๊าย   =   หันกลับ

24.ปึ๊ด   =   งัด

25.สุ่น   =   แหวกเข้าไป

ค่าว และจ๊อยซอ คืออะไร ? มาค้นหาคำตอบกันได้ที่นี่

     ความหมายของค่าวและจ๊อย


     หลายๆท่านคงเคยได้นินคำว่า "ค่าว" หรือ "จ๊อยซอ" กันมาบ้างแล้ว  ท่านทราบหรือไม่ครับว่า  ความหมายคืออะไร  และมีความแตกต่างกันอย่างไร ?  ผมเชื่อได้ว่า  ขนาดคนเมืองแท้ๆ  ที่พูดภาษาคำเมืองกันทุกวัน น้อยคนนักที่จะรู้ความหมายของคำว่าค่าวและจ๊อย  เพราะคนรุ่นใหม่เดี๋ยวนี้พอเค้าเปิดวิทยุไปเจอคลื่นค่าว ซอ มักจะเปลี่ยนคลื่นทันที  เพราะว่าดูเป็นเรื่องของคนแก่และดูไม่ทันสมัยเอาซะเลย

     แต่อย่าคิดอย่างนั้นครับ  เพราะว่าในปัจจุบัน  เค้าแต่งค่าวกันมาแบบเข้ากับเหตุการณ์ปัจจุบันกันทั้งนั้นนะครับ  และไม่ได้ฟังเพื่อความบันเทิงอย่างเดียว  เพราะค่าว และ จ๊อย ทุกบทนั้น  เค้ามีแทรกข้อคิด คำสอนดีๆเอาไว้สอนใจคนได้เป็นอย่างดีเลยครับ  ว่างๆก็ลองเปิดฟังดูกันนะครับ  ท่านจะได้รู้ว่าคนประพันธ์นั้น เค้ามีความสามารถมากขนาดไหน

     ความหมายของ "ค่าว" นั้นก็คือ  คำประพันธ์ที่ร่ายออกมาได้อย่างคล้องจองในแบบของโคลงสอง และโคลงสามครับ ซึ่งผู้ประพันธ์จะแต่งขึ้นมาจากเหตุการณ์ที่ไปพบเจอมาครับ  ส่วน"จ๊อย" นั้น จะเป็นคำประพันธ์เหมือนกันค่าวนั่นแหล่ะครับ  แต่เนื้อหาและเรื่องราวนั้น  จะเป็นคำที่สละสลวย  เอาไว้จีบ หรือเกี้ยวสาวครับ  มีลูกเอื้อนโชว์น้ำเสียงที่ไพเราะอีกด้วย  เพื่อที่จะทำให้หญิงสาวเกิดความประทับใจครับผม   เพราะในอดีตนั้น  หนุ่มๆล้านนาเค้าจะจีบสาวเมื่อเวลากลางคืน หลังจากที่เสร็จสิ้นภาระกิจการงานแล้ว  จะรวมกลุ่มกันไปเที่ยวตามบ้านสาวที่เค้าจุดโคมน้ำมันอยู่  เมื่อไปถึงบ้านสาวแล้ว  เค้าจะมีการนำเอาซึง และขลุ่ยไปด้วย  เพื่อเป่าเป็นดนตรีประกอบการจ๊อยเข้าบ้านสาวครับ  และจ๊อยนี้เค้าจะแต่งกันสดๆในขณะนั้นเลยนะครับ  เป็นกุสโลบายอย่างหนึ่ง  ที่แสดงออกถึงความเฉลียวฉลาดของชายหนุ่มนั่นเอง

ตัวอย่างคำค่าวที่แต่งขึ้นมาจากเรื่องราวรอบตัว


ดาวเต็มฟ้า ข้ายังยะก๋าน อยู่ที่ทำงาน แต๊หนาปี้อ้าย

สังง่อมเหงาใจ๋ เป็นดีใค่ให้ ใค่หลับอยู่นี้ วอยวอย

จะหกโมงแล้ว หยังเป็นดีขอย พระพายจอย นอนขดห่มผ้า

หนาวตี๋นคุมตี๋น หนาวหน้าคุมหน้า กอดหมอนข้าง แอมนอน

หมอนข้างแก่นนี้ แทนที่สมร กอดหนุนนอน เตียมคิงคู่ข้าง

อิดอกอิดใจ๋ ยะก๋านบ่ายั้ง ตั้งหกโมงเจ๊า ตะวา

นั่งอยู่สำนัก ออฟฟิศเคหา บ่ไหวละนา ลวดลาก่อนอ้าย...

ที่มาของค่าว : http://www.chiangraifocus.com/forums/index.php?topic=402356.0
ขอบคุณท่าน : civilroom


ความหมายของค่าวด้านบน



ดาวเต็มฟ้า เรายังทำงาน  อยู่ที่ทำงาน จริงนะพี่น้อง

มันเหงาหัวใจ อยากจะร้องไห้ และง่วงนอนด้วย

จะหกโมงแล้ว น่าอิจฉา คนที่เค้านอนขดในผ้าห่ม

หนาวเท้าคลุมเท้า หนาวหน้าคลุมหน้า กอดหมอนข้างนอนแอบอิง

หมอนในนี้ แทนที่คนรัก นอนกอดทุกคืน

เหนื่อยอกเหนื่อยใจ  ทำงานไม่หยุด  ตั้งแต่หกโมงเช้าเมื่อวาน

นั่งอยู่ในออฟฟิศ  ไม่ไหวแล้วครับ  ขอตัวลาก่อน


ตัวอย่างของจ๊อยที่เอาไว้เกี้ยวสาว


ไค้ปูกสะลิก ติดต้นสาลัก  ติดแต๊ติดตั๊ก

ติดนักหนาหนำ  ไค้ติดสักกำ  ไค้ก๋ำสักหน้อย

ติดทั่งติดแถ เหมือนแหติดสร้อย  ติดศรีดำมอยเจ้นเล้ำ

ติดล้ำติดเหลือ เหมือนบ่ะเขือติดเก๊า

ติดเหมือนลูกเบ้า  ติดล้ำติดเหลือป๊กคก...

เหมือนนกติดต๋าม  ติดตั๋วคนงาม  แม่คำซาวห้า

ติดแล้วบ่าหนี  เหมือนสีติดผ้า  บ่หมีวันลา  จากน้อง...


ความหมายของจ๊อยด้านบน

อยากปลูกต้นสะหลิก  ติดต้นสาลัก ชอบมากมาย

อยากอยู่ใกล้สักครั้ง  อยากจับมือซักหน่อย

ชอบมากมายเหลือเกิน เหมือนแหกับสร้อยแหที่ติดกัน  ชอบน้องสาวคนสวยมากๆ

ติดมากเหมือนมะเขือติดต้น

ชอบเหมือนลูกเบ้า  รักมากเหลือเกิน

เหมือนนกที่คอยติดตามน้องสาวคนสวย

ชอบแล้วไม่มีวันหนีหาย  มั่นคงเหมือนสีติดผ้า  ไม่มีวันลาจากน้อง


จากตัวอย่างข้างต้น  เป็นค่าว และ จ๊อย ที่อ่านแล้วมีความหมายดีๆแฝงอยู่  และถ้อยคำแต่ละคำนั้น  ไพเราะเพราะพริ้ง  ซึ่งผู้ประพันธ์นั้น  เค้าได้บรรจงแต่งขึ้นมาด้วยความงดงามทางภาษา  ซึ่งแต่งขึ้นมาจากวิถีชีวิต ความเป็นอยู่นั่นเอง



ตัวอย่างประโยคถามตอบเป็นภาษาเหนือ

    เกร็ดเล็ก เกร็ดน้อย เกี่ยวกับประโยคภาษาเหนือ


       ในบทนี้เราจะมาเรียนรู้เกี่ยวกับประโยคคำถาม  คำตอบ  ที่เราใช้พูดโต้ตอบกันเป็นภาษาเหนือนะครับ  เพื่อนๆคงจะสังเกตุเห็นว่าเราจะไม่ได้มีคำแปลมาให้ด้วย  นั่นก็เพราะว่าจะเป็นการฝึกและทดสอบไปในตัว  ว่าถ้าเพื่อนๆเจอประโยคภาษาเหนือมาแบบเป็นชุดแบบนี้ เพื่อนๆจะสามารถทำความเข้าใจ  และรู้ความหมายหริือไม่  ซึ่งถ้าเข้าใจเกิน 70% ผมว่าเพื่อนๆก็ผ่านแล้วครับ  และจะเห็นว่าการหัดพูดภาษาเหนือนั้น  มันไม่ได้ยากเลยแม้แต่น้อย

     คราวนี้เราจะมาดูกันว่าเพื่อนๆสามารถคาดเดาเรื่องราวของประโยคสั้นๆที่เค้าพูดกันออกมาเป็นภาษาเหนือได้หรือไม่  ซึ่งประโยคเหล่านี้มักจะได้ยินบ่อยมาก  เรียกได้ว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันทั้งสิ้นเลยก็ว่าได้  งั้นลองมาดูตัวอย่างด้านล่างกันได้เลย






ตัวอย่างประโยคอย่างง่าย ที่อยากให้ลองอ่านกันดู


1.)ประโยคพูดคุยทักทายเมื่อเจอหน้ากัน

อ้ายแก้ว : น้องจั๋นเป็งกิ๋นข้าวงายแล้วกา ?

จั๋นเป็ง : กิ๋นแล้วเจ้ากับแก๋งหน่อ...อ้ายแก้วลอ กิ๋นแล้วกา ?

อ้ายแก้ว : อ้ายยังบ่าได้กิ๋นเตื้อ  กะลังไปโต้งมาบ่าเด่วนิ



2.)ประโยคคำถามว่าทำอะไรกิน

อ้ายแก้ว : จั๋นเป็งคนงาม  ยะหยังกิ๋นหา หอมคึ้ หอมขื่น ?

จั๋นเป็ง : น้องแก๋งหน่อส้มเจ้าอ้าย



3.)ประโยคบอกเล่าเมื่อได้ปลาตัวใหญ่

จั๋นเป็ง : อ้ายแก้ว น้ำแม่คาวแห้ง เปิ้ลเอาป๋าทึดๆ อ้ายบ่ไปกา ?

อ้ายแก้ว : แต่กาน้อง  เดวอ้ายขะไจ๋ฟั่งไปละนิ ขอบไจ๋จ๊าดนักเน้อ



4.)ประโยคแสดงถึงอาการตกใจ

จั๋นเป็ง : โป๊ดโท ธัมโม สังโค อ้ายไปยะหยังมา แข้งขามีก้าเป้อะ ?

อ้ายแก้ว : อ้ายต้าวผะเลิ๊ดฮ่องหล่อมาย่ะน้อง



5.)ประโยคห้ามปราม ตักเตือน

อ้ายแก้ว : บ่าหล้าเฮ่ย !! จะไปล่นตากฝนเน้อ  กำเดวจะเม่ยหนา ฮู้ก่อ !!

คำป๋อง : คับอ้าย เปิ้ลฮู้ละ



6.)ประโยคสั่งสอน
 พ่อ : หมั่นฮ่ำ หมั่นเฮียนเน้อลูกเน้อ  ไหย่มาจะได้ยะก๋านดีดี

ลูก : คับป้อ ผมจะตั้งไจ๋เฮียนคับ



7.)ประโยคถามหาคน

อ้ายแก้ว : เจต ป้ออยู่บ้านก่อ ?

เจต : ป้อไปบ้านหน้าสิทธิ์ปู้น

อ้ายแก้ว : แล้วจะมาบ่าได

เจต : ท่าจะซักหม่ะตอนปู้นเน๊าะ



8.)ประโยคเรียกหาคน

กัน : ตังเมเฮ้ย  มากิ๋นข้าวเฮ้ย !!

ตังเม : คับ



9.)ประโยคชวนไปเที่ยว

ต๋อง : ฝ้าย ไปแอ่วงานเก้าเป็งบ๋อ ?

ฝ้าย : ไปก่ะ !! เดวก่อน !! ถ้าเปิ้นกำ



10.)ประโยคถามถึงบุคคลที่ 3

ตูมตาม : ไผมาฮั่นหน่ะอ้ายนัท  บ่เกยหันหน้าสักเตื้อ ?

นัท : หลานอ้ายเป็ง  ลุกลำปางมาแอ่วก้า



11.)ประโยคคำถามใช้กับพระสงฆ์

ลุงปัน : ตุ๊ป้อครับ ยี่เป็งปีนี้จัดงานใหญ่ก่อครับ ?

หลวงพ่อ : เอามอกปอฮ้าย ปอดีเนี๊ยะก่ะ



12.)ประโยคโฆษณา

แม่ค้า : บ่ะม่วงสุขบ๋อเจ้า  ถุงสิบบาท  สิบบาท

การเรียกชื่อสถานที่ต่างๆของคนภาคเหนือ

เรียนรู้เกี่ยวกับการเรียนชื่อสถานที่ต่างๆเป็นภาษาเหนือ

     หากเราได้ไปท่องเที่ยวในจังหวัดทางภาคเหนือของไทยแล้ว  การที่เราจะได้ยินคนท้องถิ่นนั้น  เรียกชื่อสถานที่ต่างๆเป็นภาษาเหนือนั้น  บางครั้งก็ทำให้คนที่ไม่เข้าใจภาษาเหนือ  อึ้ง!! ไปชั่วขณะเลยทีเดียว  เพราะว่าการจะบอกหรือพูดสถานที่ต่างๆเป็นภาษาเหนือนั้น  ดูแล้วเป็นเอกลักษณ์เอามากๆ  บางคำเราอาจจะเดาได้  แต่ส่วนใหญ่แล้ว  "ยืนเกาหัว" อย่างเดียว  เพราะงงว่าเค้าบอกอะไรกับเรา  พูดอะไรกับเราอยู่
     แต่หากเพื่อนๆได้ศึกษาเป็นความรู้เอาไว้้บ้าง  มันก็คงไม่ใช่เรื่องเสียหาย  เพราะช่วงนี้เริ่มเข้าหน้าหนาวแล้ว ดอกไม้ที่เชียงรายกำลังบานทีเดียว  บางทีเพื่อนๆอาจได้ไปเที่ยว  และได้พูดคุยกับชาวบ้าน  หรืออาจจะถามสถานที่ต่างๆ  ถามทางที่เราจะไปจากชาวบ้านนั่นเอง

     และความรู้เกี่ยวกับภาษาเหนือเหล่านี้  เราตั้งใจคิดและทำขึ้นมา  เพื่อเป็นสื่อกลางให้คนภาคอื่นๆได้เข้าใจวัฒนธรรมทางภาษาคำเมือง  และได้รู้ถึงการใช้วิถีชีวิตของคนล้านนา  และความรู้เหล่านี้ก็สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้จริง  จึงเป็นความรู้ดีดีที่ท่านไม่ควรพลาดที่จะอ่านและทำความเข้าใจกันครับ

นี่คือตัวอย่างการเรียกชื่อสถานที่ต่างๆเป็นภาษาล้านนาครับ


1.โรงเรียน  =  โฮงเฮียน


2.โรงพยาบาล  =  โฮงบาน


3.สถานีตำรวจ  =  โฮงพัก


4.กระท่อมกลางนา  =  ห้างก๋างโต้ง


5.กระท่อม  =  ตูบ


6.ทางโค้ง  =  ตางโก๊ง


7.ป่าช้า  =  ป่าเห้ว


8.ที่ทำงาน  =  ตี้ยะก๋าน


9.บ้านร้าง  =  บ้านห่าง


10.ยุ้ง , ฉาง  =  ตุ๊เข้า ,เล้าเข้า,หลองเข้า,ถุ๊เข้า


11.ไร่  =  ไฮ่


12.ซอยเล็กๆ  =  กอง


13.ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน  =  บ้านป้อหลวง


14.สถานีขนส่ง  =  ต้ารถ


15.สะพาน  =  ขัว


16.นาที่ลุ่ม  =  นาโห้ง


17.นาที่ดอน  =  นาดอน


18.ลำราง , ร้่องน้ำ  =  ฮ่องเหมือง


19.งายวัด  =  ปอย , ปอยหลวง


20.ฐานจุดบั้งไฟ  =  ก๊างบอกไฟ


21.ที่เก็บฟืน , โรงเก็บฟืน  =  ผามหลัว


22.คอกวัว  =  ผามงัว


23.โรงเรือนเก็บฟาง  =  ก๊างเฟือง


24.โรงเพาะเห็ด  =  ผามเห็ด


25.ตลาด  =  กาด


26.ในตัวเมือง  =  เวียง


27.สวนกล้วย  =  ป่ากล้วย


28.ท่าเรือ  =  ต้าเฮือ


29.สวนลำไย  =  ป่าบ่ะลำไย


30.มุม  =  จ๊อก

การเรียกชื่อสัตว์ต่างๆในภาคเหนือเค้าเรียกอย่างไร มาดูกัน

     มาเรียกชื่อสัตว์ในภาษาเหนือให้ถูกต้องกันดีกว่า


ผ่านมาหลายบทแล้ว  คราวนี้มาถึงเรื่องของการเรียกชื่อสัตว์ชนิดต่างๆในภาษาเหนือกันนะค่ะ  มาดูกันว่าเค้าเรียกว่าอย่างไรกันบ้าง  จะเหมือนกับที่เราคิดไว้หรือปล่าว  แต่ชื่อสัตว์บางชนิดก็เรียกเหมือนกับภาคอื่นๆนะค่ะ  ยกตัวอย่างเช่น หมา  แมว  นก   ไก่  งู  เป็นต้น  แต่อาจจะเรียกชื่อต่างกันไปตอนเรียกชนิดของสัตว์ที่ลึก แบ่งแยกออกไปอีก  เช่น นกกรงหัวจุก  ภาษาเหนือจะเป็น นกปิ๊ดจะลิ่ว  เป็นต้น

     การศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับภาษาล้านนานั้น  เชื่อหรือไม่ครับว่า  เพื่อนของผู้เขียนนี้เป็นคนภาคอื่น ไม่ใช่คนเหนือ  และโดยนิสัยส่วนตัวแล้วเค้าเป็นคนอารมณ์รุนแรง  แต่เมื่อเค้าได้มาบวชที่วัดทางภาคเหนือ  เค้าได้เรียนการเขียนตัวหนังสือเมืองจากท่านเจ้าอาวาธ  เค้ากลายเป็นคนที่ใจเย็น  สุขุมขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ  นี่คงเป็นเพราะการที่เค้าได้รับความอ่อนช้อยจากความเป็นล้านนา  ฝังลึกเข้าไปในจิตใจแล้วนั่นเอง

     จะว่าไปแล้ว  ภาษาเหนือนั้นจะศึกษาจากการอ่านเพียงอย่างเดียว  แล้วจะเอาไปพูดเลยนั้นคงจะได้  แต่ไม่ถูกต้องทางสำเนียงมากเท่าไหร่  เพราะการออกเสียงจะดูแล้วลากยาว เอื้อน  แบบว่าเอาคนภาคอื่นมาพูดภาษาเหนือแล้ว  เราฟังก็รู้แล้วว่าเค้าไม่ใช่คนเหนืออย่างแน่นอน

ยกตัวอย่างการเรียกชื่อสัตว์ชนิดต่างๆเป็นภาษาเหนือ


1.ปลาช่อน  =  ป๋าหลิม


2.ปลาหมอ  =  ป๋าสะเด๊ด


3.ปลากระดี่  =  ป๋าสะลาก


4.จิ้งจก  =  จั๊กกิ้ม


5.ตุ๊กแก  =  ต๊กโต


6.จิ้งเหลน  =  จั๊กกะเล้อเกี้ยง


7.กิ้งก่า  =  จั๊กก่า


8.หนอนผีเสื้อ , บุ้ง  =  แมงโบ้ง


9.ลูกอ๊อด  =  อิฮวก


10.คางคก  =  คางคาก


11.อึ่งลาย  =  คางคาก


12.งูสามเหลี่ยม  =  งูกั๋นป้อง


13.นกกระจอก  =  นกจอก


14.นกกางเขน  =  นกจี๋เจี๊ยบ


15.นกกรงหัวจุก  =  นกปิ๊ดจะลิว , นกกวิ๊ด


16.แมงป่อง  =  แมงเวา


17.แมลงสาบ  =  แมงแซบ


18.สุนัขสีขาวดำ  =  หมาโก้ง


19.แมวสีเหลือง  =  แมวเผิ้ง


20.กระรอก  =  ฮอก


21.ผึ้ง  =  เผิ้ง


22.วัว  =  งัว


23.ควายเขายาว  =  ควายหงาน


24.แมงปอ  =  อิบี้


25.ผีเสื้อ  =  ก๋ำเบ้อ


26.แมงมุม  =  ก๋ำปุ๊ง


27.กิ้งกือ  =  แมงแสนตี๋น


28.มดแดง  =  มดส้ม


29.นกฮูก  =  นกเก๊า


30.กุ๊ดจี่  =  จู้จี้


31.ตะพาบน้ำ  =  ป๋าผา


32.แมลงวัน  =  แมงงุน


33.กระจง  =  ฟาน


34.ช้าง  =  จ๊าง


35.ปลิง  =  ปิ๋ง


36.แมลงหวี่  =  แมงพิ๊ง


37.ริ้น  =  ฮิ้น


38.ไร  =  ไฮ


39.เห็บ  =  แมงต่ำแอ่


40.พยาธิ  =  แป๊ว

สอนการเรียกชื่อสิ่งของต่างๆ เป็นภาษาคำเมือง

สอนเรียกชื่อสิ่งของเป็นภาษาเหนือ

   ในภาษาเหนือหรือภาษาคำเมืองนั้น  เวลาเราจะเรียกสิ่งของต่างๆเช่น รองเท้า เข็มขัด หรือกระเป๋าต่างๆนั้น  เราไม่ได้เรียกเหมือนภาษาภาคกลางไปซะหมดนะครับ

อาจจะมีบางคำที่เรียกเหมือนกัน  แต่ส่วนใหญ่แล้ว  สิ่งของต่างๆนั้นจะเรียกเป็นภาษาถิ่นเหนือครับ  เพราะได้รับการสืบทอดมาจากพ่อแม่ ปู่ย่าตายายนั่นเอง

แต่ก็มีบางคำที่นับวันยิ่งจะเลือนหายไปครับ  โดยเฉพาะภาษาคำเมืองที่พูดกันเฉพาะถิ่นนั้น  หายไปเกือบจะหมดแล้วหล่ะครับ  ตัวอย่างก็เช่น  แค๊บ (รองเท้าแตะ) , แปม(ไม้ขีดไฟ) ,โต้(เป็นคำเรียกแทนปู่ย่าตายาย) เป็นต้น ซึ่งถ้าคนรุ่นเรานี้ไม่ช่วยกันอนุรักษ์ภาษาล้านนาอันงดงามเหล่านี้ไว้  อีกไม่กี่ปีก็คงเลือนหายไปกับกาลเวลาอย่างแน่นอน


สิ่งของต่างๆนั้น ภาษาเหนือเค้าเรียกกันอย่างไรบ้าง มาดูกัน


1.กางเกง  =  เต่ว


2.รองเท้าแตะ  =  เกิบ (บางที่เรียกแค๊บ)


3.รถจักรยาน  =  รถถีบ


4.ทัพพี  =  ป๊าก


5.กรรไกร  =  มีดยับ


6.แก้วน้ำพลาสติ๊ก  =  ก็อก


7.กระบวย  =  น้ำบาย


8.หม้อ  =  หม้อแก๋ง


9.จอบ  =  ขอบก


10.กาละมังซักผ้า  =  เป


11.ชิงช้า  =  จุ่งจา


12.เทียน  =  เตียน


13.จาน  =  จานแบน


14.ตะกร้า  =  ก๋วย , ซ้า


15.ถุงเท้า  =  ถุงตี๋น


16.ย่าม  =  ถง


17.หนังสติ๊ก  =  ก๋ง


18.รองเท้าบู๊ต  =  เกืยกโอ๊ก


19.กระทะ  =  หม้อขาง


20.กระทงทำพิธีสะเดาะเคราะห์  =  สะตวง


21.หนังสือ ,ตำรา  =  ปั๊กกะตืน


22.ค้อน  =  มุยแง่ม


23.ขวาน  =  มุย


24.ย่ามที่ทำจากกระสอบปุ๋ย  =  ถงเป๋อ


25.กรรไกรตัดเล็บ  =  ตะไกตัดเล็บ


26.กางเกงใน  =  เต่วลิง


27.ไม้ขีดไฟ  =  กั๊บไฟโซ้ (บางที่เรียกแปม)


28.ไฟแช๊ก  =  กั๊บไฟแก๊ด


29.เตาอั่งโล่  =  เต๋าโล้


30.ฟืน  =  หลัว


31.เข็มขัด  =   สายฮ้าง


32.ชะลอม  =   น้ำคุ

*** การเรียกชื่อสิ่งของต่างๆเป็นภาษาเหนือนั้น  แต่ละที่อาจจะแตกต่างกันออกไปบ้างนะครับ  เพราะว่าอาจมีการผสมผสานภาษาเข้ากับภาษาอื่นด้วย  เช่น ภาษาเหนือทางลำพูน  จะมีการผสมผสานกับภาษาไทลื้อ ภาษายองด้วย  บางทีอาจจะฟังดูแปลกๆครับ

การเรียกชื่อผักต่างๆเป็นภาษาเหนือ

รู้ไว้ใช่ว่า  ชื่อผักในภาษาเหนือ

   มาถึงบทนี้  เราจะสอนเรื่องของการเรียกชื่อผักต่างๆเป็นภาษาเหนือนะครับ  เป็นที่รู้ๆกันอยู่ว่าผักในภาษาเหนือนั้น  มีมากซะเหลือเกิน  เพราะเมนูอาหารที่เกี่ยวกับผักนั้นมีเยอะครับ  บางทีก็เอาเป็นเครื่องเคียงก็มี  อย่างเช่นผักกับลาบ  หรือบางคนเค้าเอาผักชนิดต่างๆมารวมกัน  แล้วเอามาลวกจิ้มน้ำพริกครับ  อร่อยมากๆ  จึงทำให้คนล้านนาชอบปลูกผักเอาไว้กินเองเกือบทุกบ้านเลยครับ

ส่วนการเรียกชื่อผักนั้น  ในภาษาเหนือก็เรียกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิงเลยนะครับ  เนื่องด้วยวัฒนธรรมทางภาษาที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่อดีตนั่นเอง  เชื่อมั๊ยว่าแต่ละเมนูของอาหารภาคเหนือนั้น  ประกอบด้วยผักทั้งสิ้น  นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนภาคเหนือเป็นคนที่อายุยืน  เอาหล่ะ  เริ่มจะนอกเรื่องไปเรื่อยๆละ  เอาเป็นว่าเรามาดูว่าผักแต่ละชนิดนั้น  ในภาษาเหนือเค้าเรียกว่าอย่างไรกันบ้าง มาดูกันได้เลย



รายชื่อผักในภาษาเหนือพร้อมคำแปล


1.ผักป้อม   =  ผักชี


2.ผักป้อมเป้อ   =  ผักชีฝรั่ง


3.บ่ะเขือฮืน   =  มะเขือขื่น


4.บ่ะห่อย   =  มะระขิ้นก


5.บ่ะเขือมื่น   =  กระเจี๊ยบเขียว


6.จั๊กไค   =  ตะไคร้


7.ผักกอมก้อ   =  ใบแมงลัก


8.บ่ะแปป   =  ถั่วแปป


9.บ่ะนอย   =  บวบเหลี่ยม


10.ปูเลย   =  ไพร


11.บ่ะเขือส้ม   =  มะเขือเทศ


12.พริกแด้   =  พริกขี้หนู


13.บ่าถั่วดิน   =  ถั่วลิสง


14.บ่าแต๋ง   =  แตงกวา


15.บ่าแคว้ง   =  มะเขือพวง


16.ข้าวสะลี   =  ข้าวโพด


17.หน่อส้ม ,หน่อโอ่   =  หน่อไม้ดอง


18.บ่าน้ำแก้ว   =  พักทอง


19.บ่าพักหม่น   =  พักเขียว


20.ผักบ่าน้ำแก้ว   =  ยอดพักทอง


21.ผักหนองน้ำ   =  ผักกระเฉด


22.ผักเผ็ด   =  ผักคราด


23.บ่ะค้อนก้อม   =  มะรุม


24.ผักแค   =  ใบชะพลู


25.บ่ะถั่วปู   =  ถั่วพลู


26.ฝักบ่าลิดไม้   =  ลิ้นฟ้า


27.หอมด่วน   =  ผักสะระแหน่


28.เห็ดหูลั๊วะ   =  เห็ดหูหนู


29.เห็ดเฟือง   =  เห็ดฟาง


30.ผักปั๋ง   =  ผักปลัง

คำกริยาในภาษาเหนือ เค้าพูดว่าอย่างไรกันบ้าง มาดูกัน !!

เรียนรู้เกี่ยวกับคำกริยาในภาษาเหนือ

ในบทที่ผ่านๆมา  เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับภาษาเหนือหลากหลายชนิด หลากหลายประเภทกันแล้ว  เพื่อนๆคงจะได้เห็นมาบ้างแล้วว่า ภาษาเหนือกับภาษาไทยนั้น  มีความต่างกันไม่น้อยเลยทีเดียว  นี่ยังไม่ได้พูดออกเสียงนะ เพียงแค่คำอ่านเท่านั้น  แต่ถ้าจะพูดถึงความหลากหลายของภาษาเหนือ  ต้องหมวดหมู่นี้เลยครับ "คำกริยา" เพราะว่าคำกริยานั้น คือการแสดงออกในท่วงท่าต่างๆของคนเรา  ซึ่งก็มีมากมายเหลือเกิน  เราก็จะขอยกตัวอย่างมาให้เพื่อนๆได้ดูกันให้มากที่สุดก็แล้วกันนะครับ

หากใครที่ไม่เคยได้ยินภาษาเหนือมาก่อนแล้วหล่ะก็  คำแต่ละคำนั้นดูสำเนียงที่ค่อนข้างแปลก  เพราะว่าบางคำแทนที่จะยาวกลับสั้น  แทนที่จะสั้นกลับยาว  นี่แหล่ะ คือเสน่ห์ของภาษาเหนือที่เป็นเอกลักษณ์ที่ไม่มีใครเหมือนอย่างแท้จริง







ตัวอย่างของคำกริยาในภาษาเหนือที่ใช้กันบ่อยๆ

1.ล่น  =  วิ่ง

2.ต้าว  =  หกล้ม

3.เตว , ย่าง  =  เดิน

4.สะวัด  =  สะบัด

5.ยาด  =  ข่วน

6.กน  =  คน (การกวนอาหาร)

7.ส่อย  =  เขย่า

8.กิ๋น  =  กิน

9.ลูกกุย  =  กำปั้น , หมัด

10.อู้  =  พูด

11.ก้าย  =  เบื่อ

12.ง่อม  =  เหงา

13.ไข่หลับ  =  ง่วงนอน

14.อิด  =  เหนื่อย

15.กั๊ดต๊อง  =  อิ่ม , จุกท้อง

16.ป้อมเก๊าไม้  =  ตัดต้นไม้

17.สุบเกิบ  =  สวมรองเท้า

18.วิด  =  กระโดด

19.ปิ๊ก  =  กลับ

20.กึ๊ด  =  คิด

21.ผ่อ  =  ดู , มอง

22.นอนสะแกง  =  นอนตะแคง

23.อร่อย  =  ลำ

24.ยะก๋าน  =  ทำงาน

25.แต๊  =  จริง

26.วอก  =  โกหก

27.จุ๊  =  หลอก

28.ฟั่ง  =  รีบ

29.ไข่หัว  =  หัวเราะ

30.เอ๊อะ  =  เรอ

31.จ๋าม  =  จาม

32.ไข่ฮาก  =  คลื่นไส้

33.เมาหัว  =  เวียนหัว

34.หยื้อ  =  เอื้อม

35.อุ่ย , พุก  =  โปรย , หว่าน

36.จั๊ก  =  ดึง

37.ลักเมา  =  แอบรัก

38.จ้าง  =  เป็น(ทำเป็น  กินเป็น  เป็นสร้าง)

39.หูบ  =  สูด

40.ปุ้ง  =  พุ่ง

ตัวอย่างคำกริยาในภาษาเหนือที่ท่านได้เห็นกันอยู่นี้  เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น  ที่จริงแล้วคำกริยาในภาษาเหนือมีอยู่เยอะมากๆ  จะเอามาพูด เอามาเขียนลงในวันนี้คงไม่หมด  ส่วนคำไหนที่เพื่อนๆสงสัยหรือว่าคาใจอยู่  สามารถสอบถามมาได้เลยนะครับ  เราจะกลับมาตอบคำถามท่าน  ด้วยคำตอบที่ถูกต้อง แม่นยำ และจริงใจเสมอครับผม

คำนามและคำสรรพนามต่างๆของภาษาเหนือที่ควรรู้

คำนามและคำสรรพนามในภาษาเหนือ

คนเราไม่ว่าจะเกิดที่ไหน  ประเทศอะไร  พูดภาษาอะไรนั้น  เราต้องมีหลักสำคัญเรื่องของภาษาที่เราใช้สื่อสารกัน ที่เด่นๆก็คือ  คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา  ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน  ยกตัวอย่างง่ายๆคือ  ถ้าไม่มีคำว่า เธอ ฉัน  มัน  เราคงจะเรียกชื่อกันทุกประโยคกันเลยทีเดียว  ดังนั้นเราจึงได้คิดคำพูดที่จะสื่อถึงสิ่งๆนั้น หรือคนๆนั้นโดยที่ไม่ต้องเรียกชื่อซ้ำๆอีกนั่นเอง

ดังนั้นในภาษาเหนือก็เช่นกัน  มีทั้งคำนามและคำสรรพนามครับ  บางคำก็เรียกเหมือนภาษากลาง  แต่ส่วนใหญ่จะไม่เหมือนครับ  จะเป็นคำเฉพาะของภาษาเหนือเลย  ในบทนี้เราก็จะมาสอนเกี่ยวกับคำนามและคำสรรพนามภาษาเหนือกัน  เพื่อที่เพื่อนๆจะได้เอาไปใช้กันอย่างถูกต้อง  อย่างไม่ต้องกลัวเขินเวลาพูดภาษาคำเมืองกันเลยทีเดียว  




ตัวอย่างคำนามและคำสรรพนามภาษาคำเมืองพร้อมคำแปล

1.เปิ้น  =  ฉัน

2.ตั๋ว  =  เธอ , ตัว

3.เม็ด  =  ขีด (น้ำหนัก)

4.เตื้อ , กำ  =  ครั้ง

5.แก่น  =  ลูก , ผล 

6.โหน่ย  =  ผล (ผลไม้)

7.กัน  =  คัน (รถ)

8.ผู้ชาย  =  ป้อจาย

9.ผู้หญิง  =  แม่ยิง

10.สูเขา  =  พวกเธอ

11.ป้ออุ๊ย  =  ปู่ , ตา

12.แม่อุ๊ย  =  ย่า , ยาย

13.อ้ายบ่าว  =  พี่ชาย

14.ปี่  =  พี่สาว

15.คิง  =  หมายถึง เธอ แต่ไม่ค่อยสุภาพ

16.ฮา  =  หมายถึง ฉัน แต่ไม่ค่อยสุภาพ

17.บ่า  =  ใช้เรียกบุรุษที่ 3 แต่ไม่ค่อยสุภาพ

18.มนอุ้มลุ้ม  =  กลม , มน

19.ปุ๊ก  =  พวง

20.จ้อ  =  ช่อ

21.ปื๊บ  =  ฉบับ

22.ยาวจ๊าดลาด  =  ยาวเฟื้อย

23.เก๊า  =  ต้น

24.เถี่ยน  =  เล่ม(ใช้เรียกมีดพร้า)

25.บอก  =  กระบอก

26.ก๋วย  =  ตะกร้า

27.หม่อน , อุ๊ยหม่อน  =  ทวด

28.ละอ่อน  =  เด็ก

29.น้องแอ  =  เด็กทารก

30.น้องไป๊  =  น้องสะใภ้

จากตัวอย่างข้างต้น  จะเห็นได้ว่าคำนามและคำสรรพนามในภาษาเหนือนั้น  มีเยอะอยู่เหมือนกันนะครับ  และแต่ละคำก็ยังสามารถแปลได้ 2 ความหมาย  หรือว่าบางคำมีความหมายเดียว  แต่สามารถเรียกได้ 2 แบบ  ด้วยเหตุนี้เอง  เราจึงได้เรียบเรียงคำนามและคำสรรพนามภาษาเหนืิอเหล่านี้ออกเป็นข้อๆ เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้นนั่นเองครับ  ส่วนเพื่อนๆมีข้อสงสัยตรงไหนเกี่ยวกับภาษาเหนือ  หรือต้องการติชมตรงส่วนไหน  ก็สามารถคอมเม้นมาบอกกล่าว และพูดคุยกันได้เลยนะครับ 

ประโยคภาษาเหนือที่พบเห็นกันได้บ่อย

มาทำความเข้าใจกับประโยคภาษาเหนือกัน

 หากเราได้ไปเที่ยวทางภาคเหนือ  ไม่ว่าจะไปเที่ยวในฤดูหนาว  เที่ยวสงกรานต์  หรือมาสูดอากาศสดชื่นนั้น  เมื่อเราได้เข้าไปในเขตชุมชน  ย่อมได้ยินประโยคที่ชาวบ้านเค้าพูดกันหลากหลายครับ  บางคนพูดเร็ว บางคนพูดช้า  ยิ่งคนที่ไม่รู้ภาษาเหนืออย่างเราด้วยแล้ว  กว่าจะทำความเข้าใจคงต้องให้ชาวบ้านเค้าแปลภาษาคำเมืองเป็นภาษาไทยอีกทีนึงแน่ๆ ฮ่า ฮ่า!! แต่คงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย  ถ้าเรารู้ความหมายของภาษาเหนือบางประโยค  ที่เค้าพูดกันบ่อยๆนั้น  เพื่อที่เราจะได้สื่อสารกับเค้าได้ไม่มากก็น้อย
     คนภาคเหนือก็ใจดีเหมือนกับคนไทยทุกๆภาคนั่นแหล่ะครับ  เจอใครก็ทักทายกันบ้าง แต่ที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดนั่นก็คือ  คนภาคเหนือมักจะทักทายกันด้วยคำว่า "กิ๋นข้าวแล้วกา (กินข้าวหรือยัง)" ซึ่งผู้เขียนคาดว่าคงเป็นกุสโลบายที่พูดติดปากกันมาตั้งแต่สมัยอดีต เพราะการถามเรื่องการข้าวนั้น จะมีความหมายกว้างไปถึงเรื่องของการอยู่ดีมีสุข มีอยู่ มีกินนั่นเอง  และอีกนัยหนึ่งน่าจะเป็นเพราะคนสมัยโบราณนั้น  ต้องกินข้าวก่อนไปทำงาน  จะได้มีเรี่ยวแรงในการทำงานนั่นเอง  



ตัวอย่างประโยคภาษาเหนือที่มักจะได้ยินกันบ่อยๆ

1.ไปตางได  วันนี้ ?
(  วันนี้จะไปไหนเหรอ ? )


2.มาหาไผเจ้า ?
(  มาหาใครค่ะ ? )


3.กิ๋นข้าวกับหยัง ?
(  กินข้าวกับอะไร ? )


4.กิ๋นข้าวแล้วกา ?
(  กินข้าวหรือยัง ? )


5.ซื้อข้าวนึ่งจิ่มเจ้า
(  ซื้อข้าวเหนียวหน่อยค่ะ  )


6.อำเภอสารพีไปตางไดเจ้า ?
(  อำเภอสารภีไปทางไหนค่ะ ?  )


7.คนอะหยังจะได  หยังมาหมั่นแต๊หมั่นว่า
(  คนอะไร๊  ขยันจริงๆ ขยันสุดๆ  )


8.จะไปอู้กั๋นดังเน้อ
(  อย่าส่งเสียงดัง  )


9.พริกแด้นี่ขายหยั่งไดเจ้า ?
(  พริกขี้หนูนี่ขายยังไงค่ะ ? )


10.บ่ะหน้อแหน้นี่  โลเต้าไดเจ้า ?
(  น้อยหน่านี่กิโลละเท่าไหร่ค่ะ ?  )


11.บ่ดีขับรถโวยเน้อ  ซอยนี้ละอ่อนนัก  เดวจะจนใส่ละอ่อนหนา
(  อย่าขับรถเร็วนะ  ซอยนี้เด็กเยอะ  ระวังจะขับชนกับเด็กนะ  )


12.ก๊วยเี๋ตี๋ยวถ้วยเต้าไดเจ้า ?
(  ก๋วยเตี๋ยวชามละเท่าไหร่ค่ะ ?  )


13.บ่ดีข้าวขัวฮั่นเน้อ  ไม้มันพั๊วะ
(  อย่าไปข้ามสะพานตรงนั้นนะ  ไม้มันผุ  )


14.ไปแอ่วไหนดีหา  วันนี้
(  วันนี้เราจะไปเที่ยวไหนกันดี  )


15.เอาผักกาด  แก๋งใส่ป๋าดุ๊ก กาว่าป๋าหลิมดีหา
(  จะเอาผักกาด  แกงใส่ปลาดุก หรือปลาช่อนดีเนี่ย  )

16.กิ๋นข้าวนักๆ  จะได้ปันไหย่ปันสูง
( กินข้าวเยอะ จะได้โตไวไว )


17.ฮัลโหล  ยะหยังอยู่  เปิ้นกึ๊ดเติงหาตั๋วหนา
( ฮัลโหล ทำอะไรอยู่ เค้าคิดถึงตัวเองนะ )


18.จะไปมาค่ำเน้ออี่น้องเน้อ
( อย่ากลับบ้านค่ำนะลูกนะ )


19.บ่ดีนอนเดิ๊ก  กำเดวจะลุกขวาย
( อย่านอนดึก  เดี๋ยวจะตื่นสาย )


20.วันพูกลุกเจ้าๆเน้อ  อี่ป้อจะมัดมือหื้อ
( พรุ่งนี้ตื่นเช้าๆนะ  เดี๋ยวพ่อจะมัดมือให้ )


ตัวอย่างประโยคภาษาเหนือเ้หล่านี้  เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่เรามักจะได้ยิน  และสามารถเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้  ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความรู้เหล่านี้  จะเป็นประโยชน์ต่อใครๆอีกหลายคนนะครับ  และผมก็จะนำความรู้ต่างๆที่เกี่ยวกับภาษาเหนือ  มาให้เพื่อนๆได้อ่านอยู่เรื่อยๆเลยครับผม

มาดูชื่อเรียกผลไม้แบบภาษาเหนือกันดีกว่า

ชื่อผลไม้ต่างๆของทางภาคเหนือ

     ในบทนี้เราจะมาสอนเพื่อนๆเกี่ยวกับการเรียกชื่อผลไม้แต่ละอย่างของทางภาคเหนือกันนะค่ะ  ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมาก  หากเพื่อนๆได้ไปเที่ยวที่ภาคเหนือ อย่างเชียงใหม่  เชียงราย  แล้วไปเดินซื้อผลไม้ที่ตลาด  เราจะได้ฟังที่แม่ค้าพูดว่าเค้ากำลังสื่อสารอะไรกับเราอยู่  ประโยคที่มักจะได้ยินก็ประมาณ "เอาบ่าเต้าก่อเจ้า" ซึ่งความหมายก็คือ "รับแตงโมมั๊ยค่ะ" ซึ่งเชื่อได้เลยว่าใครที่ไม่ใช้คนภาคเหนือ  รับรองว่าต้องงงอย่างแน่นอน
    จากที่เราได้สังเกตุและศึกษามานั้น  จึงได้รู้ว่าผลไม้บางชนิด  เป็นผลไม้เฉพาะถิ่นของทางภาคเหนือเท่านั้น  เพราะทางภาคเหนือของไทยมีอากาศเย็น  ทำให้ผลไม้เมืองหนาวบางชนิดสามารถเพาะปลูกได้ที่ภาคเหนือเท่านั้น  และจึงมีชื่อเรียกเฉพาะที่เป็นภาษาเหนือนั่นเอง  ชื่อเรียกของผลไม้ในภาษาเหนือนั้น  บางทีก็เป็นชื่อที่แปลกสุดโต่ง จนคนทั่วๆไปคาดไม่ถึง  ผู้เขียนเคยเอาไปตั้งคำถามทายเพื่อนที่อยู่กรุงเทพ  ปรากฏว่าไม่มีใครสามารถตอบถูกได้ซักคน  เพราะขนาดคนเหนือรุ่นใหม่  ที่มีภูมิลำเนาอยู่ที่ภาคเหนือก็ยังไม่รู้ความหมายเลย  เนื่องจากคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่เค้าสอนให้ลูกพูดไทยกันหมด

ชื่อผลไม้ต่างๆ เป็นภาษาเหนือ มีดังนี้

1.บ่าเต้า  =  แตงโม
2.บ่าตื๋น,บ่าต้อง  =  กระท้อน
3.บ่าป้าว  =  มะพร้าว
4.บ่าหน้อแหน้  =  น้อยหน่า
5.หม่ะมุด  =  ละมุด
6.หม่ะโอ  =  ส้มโอ
7.บ่าเกี๋ยง  =  ลูกหว้า
8.บ่าก๊วยเต๊ด  =  มะละกอ
9.บ่าขะหนัด  =  สัปปะรด
10.ก๊วยค้าว  =  กล้วยหอม
11.บ่ะหนุน  =  ขนุน
12.บ่ะหนุนเรียน  =  ผลจำปาดะ
13.บ่ะเหนียงแฮ้ง  =  น้อยโหน่ง
14.บ่าขาม  =  มะขาม
15.บ่าม่วง  =  มะม่วง
16.บ่าก๊อ  =  ทับทิม
17.โหน่ยบ่ะคกลก  =  กระทกรก
18.บ่ะหมั้นก๊วย , บ่าหมั้น , บ่าก๊วย , บ่ะก๊วยก๋า  =  ฝรั่ง
19.บ่ะตัน  =  พุทรา
20.บ่าผาง  =  มะปราง

ทั้งหมดนี้คือชื่อของผลไม้ที่ทางภาคเหนือเค้าเรียกกัน  และเราได้แปลเป็นภาษาไทยมาแล้ว  แค่นี้ก็สามารถทำให้เพื่อนๆเรียกชื่อผลไม้ต่างๆเป็นภาษาเหนือได้อย่างถูกต้องกันแล้วนะครับ

มารู้จักกับภาษาเหนือกันก่อน

     สวัสดีครับเพื่อนๆ  ก่อนอื่นเรามารู้จักกับภาษาเหนือกันคร่าวๆก่อนนะครับ  ซึ่งก็เป็นที่รู้กันดี ว่า "ภาษาเหนือ"  หรือที่คนท้องถิ่นเรียกว่า "ภาษาคำเมือง" นี้  เป็นภาษาดั้งเดิมของชาวล้านนากันเลยนะครับ  เพราะวัฒนธรรมทางภาษาเกี่ยวกับการพูด การเขียน  และสำเนียงที่เป็นเอกลักษณ์  ได้ถูกถ่ายทอดมาสู่คนรุ่นหลังรุ่นต่อรุ่น  และยังมีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรูปแบบของภาษาคำเมือง  ตามวัดวาอาราม  หรือบันทึกผ่านทางคำจ๊อย คำซอ และคาถาต่างๆครับ

     ภาษาเหนือเป็นภาษาที่มีสำเนียงแตกต่างจากภาษาของภาคอื่นอย่างชัดเจน  เพราะภาษาเหนือมีความอ่อนช้อยที่เป็นเอกลักษณ์อยู่ในตัว  ทำให้เวลาพูดออกจะฟังดูเนิบๆ ช้าๆ ซึ่งตรงส่วนนี้ได้แสดงออกถึงนิสัยเื้อื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของชาวล้านนาได้อย่างชัดเจน  ภาษาล้านนานี้มีมาตั้งแต่โบราณ  ย้อนไปในยุคก่อนที่ไทย  จะรวมกันเป็นประเทศซะอีก  เพราะเมื่อก่อนอาณาจักรล้านนามีอาณาเขตกว้างขวางไปจนถึงแคว้นสิบสองปันนากันเลยทีเดียว  จึงมีข้อสันนิษฐานว่าชาวล้านนาดั้งเดิม  ได้อพยพมาจากทางตอนใต้ของแคว้นสิบสองปันนานั่นเอง

     นอกจากภาษาพูดที่เป็นเอกลักษณ์ของภาษาเหนือแล้ว  ยังมีตัวหนังสือด้วย  เรียกว่า "อักษรเมือง , อักษรล้านนา , ตัวเมือง , อักขระล้านนา" ซึ่งตรงส่วนนี้ก็แล้วแต่ว่าใครจะสะดวกเรียกอย่างไร ซึ่งความหมายก็เหมือนกันหมด  วัฒนธรรมการเขียนตัวเมืองนั้น  นับวันยิ่งมีคนรู้จักน้อยมาก  เพราะมีคนที่สืบสานค่อนข้างน้อย  คนที่เขียนเป็นส่วนมากจะเป็นพระที่บวชมานาน  เพราะเค้าสืบทอดกันมาทางพระคาถาล้านนานั่นเอง  แต่หากใครสนใจก็มีที่เปิดสอนอยู่เหมือนกัน  การเขียนตัวเมืองให้สวยนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย  เพราะต้องมีการลากเส้นที่ยึกยัก  และบางคนที่เค้าเขียนเก่ง  เค้าจะมีการตวัดหางตัวเมืองด้วย  เกิดความสวยงามและอ่อนช้อยเป็นอย่างมาก  ส่วนใหญ่วัด หรืออาราม ทางภาคเหนือ ที่ชื่อวัดตรงป้ายเค้าจะเขียนตัวเมืองเอาไว้ด้วย  ซึ่งถ้าใครได้ไปทางเหนือก็จะได้เห็นกันเยอะครับ

     ส่วนเรื่องที่เราจะสอนเพื่อนๆเกี่ยวกับภาษาเหนือนั้น  เพื่อนๆจะได้รับความรู้แบบครอบคลุมทั้งหมด ที่เกี่ยวกับภาษาเหนือ ทั้งภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน  ภาษาเรียกชื่อสิ่งของ  ผลไม้  เครื่องใช้ กริยา คำสรรพนามเกี่ยวกับภาษาเหนือทั้งหมด  โดยการถ่ายทอดจากคนเหนือเจ้าของภาษาโดยตรงกันเลย  รับรองว่าถ้าใครที่อ่าน และศึกษาไปเรื่อยๆนั้น  จะต้องพูดภาษาเหนือเป็นอย่างแน่นอน